Monday, May 27, 2013

น้ำมะพร้าวอ่อน

Source: มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

มีคำโบราณกล่าวไว้ว่า หญิงที่มีประจำเดือนเมื่อดื่มน้ำมะพร้าวอ่อน  จะทำให้ประจำเดือนหยุดไปหรือกลายเป็นประจำเดือนกะปริดกะปรอยและทำให้มีประจำเดือนครั้งต่อไปล่าช้ากว่าปกติ และคนสมัยก่อนมักแนะนำให้สตรีวัยทองดื่มน้ำมะพร้าว เพื่อลดอาการวูบวาบจากภาวะหมดประจำเดือน ในเรื่องนี้มีนักวิจัยไทย จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดร.นิซาอูดะห์ ระเด่นอาหมัด อาจารย์ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลา นครินทร์ (ม.อ.) ได้ทำการทดลองหาว่าในน้ำมะพร้าวอ่อนจะมีฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนอยู่หรือไม่  และได้ศึกษาวิจัย เรื่องผลของน้ำมะพร้าวอ่อนต่อการชะลอการเกิดพยาธิสภาพโรคอัลไซเมอร์    โดยได้ทำการทดลองในหนูขาวเพศเมีย อายุ 4 เดือน ที่ถูกตัดรังไข่ออกและแบ่งหนูเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้น้ำมะพร้าวปริมาณ 100 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน และอีกกลุ่มไม่ให้น้ำมะพร้าวทำเช่นนี้เป็นเวลา 5 สัปดาห์ จากนั้นนำหนูขาวไปผ่าสมองเพื่อตรวจสอบระดับเซลล์ประสาท ผลการตรวจสอบพบว่า หนูขาวที่ได้รับน้ำมะพร้าวจะมีอัตราการตายของเซลล์ประสาทน้อยกว่าหนูที่ไม่ได้รับน้ำมะพร้าว นอกจากนี้ยังพบว่าน้ำมะพร้าวอ่อนมีผลทำให้การสมานแผลเร็วขึ้น อีกทั้งยังไม่มีรอยแผลเป็นอีกด้วย ขนจะนุ่มและผิวจะขาวใสขึ้นอย่างเห็นได้ชัด   จากการทดลองพบว่าน้ำมะพร้าวอ่อนมีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง และมีส่วนช่วยลดพยาธิสภาพของโรคอัลไซเมอร์ได้   ขณะเดียวกัน เมื่อไม่นานมานี้มีผลการศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่าเอสโตรเจนอาจมีบทบาทที่สำคัญมาก ต่อระบบประสาทส่วนกลาง  โดยอาจไปกระตุ้นการเจริญของเซลล์ประสาท 

อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่าในการทดลองนี้มีการให้น้ำมะพร้าวอ่อนกับหนูทดลองในขนาดที่มาก คือให้น้ำมะพร้าวอ่อน 100 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน  ดังนั้นถ้าเทียบกับในคน เช่นคนที่มีน้ำหนักตัว 50 กิโลกรัมจะมิต้องใช้น้ำมะพร้าวอ่อน 5000 มิลลิลิตร หรือ 5 ลิตรต่อวันเชียวหรือ  และน้ำมะพร้าวนั้นมีไฟโตรเอสโตรเจน ซึ่งไม่ใช่เอสโตรเจน

นอกจากน้ำมะพร้าวอ่อนแล้วยังมีพืชอีกหลายชนิดที่มีฮอร์โมน ที่เรียกว่า ไฟโตเอสโตรเจน( Phytoestrogen) ซึ่งมีสูตรโครงสร้างหรือสารที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาคล้ายฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน ซึ่งจากการสังเกตการใช้ทางพื้นบ้าน และการสังเกตผลการรับประทานสมุนไพรในด้านต่างๆ เช่น การเพิ่มน้ำนมให้กับสตรีหลังคลอดบุตร หรือประชาชนในประเทศจีนที่รับประทานพืชบางชนิดแล้วสามารถคุมกำเนิดได้ หรือสังเกตจากสตรีที่รับประทานพืชบางชนิดแล้วทำให้สตรีนั้นเป็นหมัน หรือในประเทศญี่ปุ่นซึ่งประชากรมีอุบัติการณ์ของการเกิดโรคมะเร็งเต้านมและต่อมลูกหมากต่ำ คาดว่าเนื่องมาจาก การที่คนญี่ปุ่นได้รับไฟโตรเอสโตรเจนจากการบริโภคผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองอยู่เป็นประจำ เมื่อเปรียบเทียบการบริโภคอาหารถั่วเหลืองนั้น ประมาณกันไว้ว่าการได้รับผลิตภัณฑ์อาหารถั่วเหลืองในคนญี่ปุ่นได้รับสูงสุดคือ เป็น isoflavones 200  มิลลิกรัม/วัน ส่วนคนเอเชียอื่น ๆ ได้รับ 25-45 มิลลิกรัม/วันและประเทศทางตะวันตกได้รับน้อยกว่า   5 มิลลิกรัม/วัน รวมทั้งอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งที่สัมพันธ์กับฮอร์โมนระหว่างชาวฟินแลนด์ อเมริกัน และญี่ปุ่น พบว่าคนญี่ปุ่นซึ่งมีการขับถ่ายไฟโตรเอสโตรเจนออกมาในปริมาณมากที่สุดทางปัสสาวะนั้นมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่ำสุด  ซึ่งแง่มุมเหล่านี้ทำให้มีการศึกษาเกี่ยวกับสารประกอบในพืชที่มีฤทธิ์เหมือนเอสโตรเจนคือสามารถออกฤทธิ์ต่อเซลล์ของผนังมดลูก รังไข่ และเต้านม โดยทำให้เยื่อบุผนังช่องคลอดนาขึ้น หรือกระตุ้นการทำงานของเยื่อบุปากมดลูกให้มีการหลั่งเมือกที่ปากมดลูกมากขึ้น หรือเพิ่มการเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนกล้ามเนื้อที่มดลูกหนาขึ้น หรือมีผลต่อการเจริญเติบโตของต่อมน้ำนมที่เต้านม

No comments:

Post a Comment