Sunday, September 22, 2013

ข้อเข่าเสื่อม

ข้อเข่าเสื่อม ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด อาจเกิดจาก อายุที่มากขึ้น (มักพบในผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป) น้ำหนักตัวมาก พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า และ จากการใช้ข้อไม่เหมาะสม สาเหตุอื่น ๆ เช่น อุบัติเหตุ การติดเชื้อในข้อ เป็นต้น

เมื่อเกิดข้อเสื่อม จะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่าง ภายในข้อ เช่น กระดูกอ่อนผิวข้อบางลง และ ผิวไม่เรียบ มีกระดูกงอกบริเวณขอบ ๆ ข้อ และ เกิดการสูญเสียคุณสมบัติของน้ำไขข้อ ปริมาณมากขึ้น แต่ความยืดหยุ่นลดลง

อาการและอาการแสดงของโรคข้อเข่าเสื่อม อาจพบอาการเพียงอาการเดียว หรือ หลายอาการพร้อมกันก็ได้ ในระยะแรกมักจะเป็นไม่มาก และ เป็น ๆ หาย ๆ แต่เมื่อข้อเสื่อมมากขึ้น ก็จะมีอาการบ่อยมากขึ้น หรือ เป็นตลอดเวลา

• ปวดข้อเข่า รู้สึกเมื่อย ตึงที่ ต้นขา น่อง และ ข้อพับเข่า ผิวหนังบริเวณข้อ อุ่นหรือ ร้อนขึ้น

• ข้อขัด ข้อฝืด เหยียด-งอเข่าได้ไม่สุด มีเสียงดังในข้อเวลาขยับข้อเข่า จากการเสียดสีกันของผิวข้อที่ไม่เรียบ

• ข้อเข่าบวม เพราะน้ำไขข้อมากขึ้นจากการอักเสบ หรือ มีก้อนถุงน้ำในข้อพับเข่าจากเยื่อบุข้อเข่าโป่งออก

• เข่าคดเข้า เข่าโก่งออก หรือ มีกระดูกงอก ทำให้ข้อผิดรูปร่าง กล้ามเนื้อรอบข้อลีบเล็กลง


เอกซเรย์ อาจพบสิ่งผิดปกติ เช่น ช่องของข้อเข่าแคบลง กระดูกงอก (ในผู้สูงอายุปกติ ที่ไม่มีอาการก็พบได้ )

ความผิดปกติทางเอกซเรย์ ไม่สัมพันธ์กับอาการปวด บางคนเอกซเรย์พบว่าข้อเสื่อมมากแต่กลับไม่ค่อยปวด โดยทั่วไปแล้ว แพทย์สามารถวินิจฉัยว่าเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้โดยไม่จำเป็นต้องเอกซเรย์ ยกเว้นผู้ที่จะรักษาด้วยการผ่าตัด หรือ ผู้ที่รักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น


แนวทางรักษา มีอยู่หลายวิธี เช่น

• ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อหลีกเลี่ยงการงอเข่ามากเกินไป

• กายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อาจใช้ ผ้ารัดเข่า เฝือกอ่อนพยุงเข่า (แต่ถ้าใช้นาน ๆ จะทำให้กล้ามเนื้อลีบ)

• ยาบรรเทาอาการ เช่น ยาแก้ปวดลดการอักเสบที่มิใช่สเตียรอยด์ ยาคลายกล้ามเนื้อ แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานเพราะจะทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น แผลในกระเพาะอาหาร ไตวาย ความดันโลหิตสูง เป็นต้น

• ยากระตุ้นการสร้างกระดูกอ่อนผิวข้อ (ปกติ กระดูกอ่อนผิวข้อจะไม่สร้างขึ้นใหม่) หรือ ยาชะลอความเสื่อม

• ฉีดน้ำไขข้อเทียม ซึ่งจะช่วยให้อาการดีขึ้นเฉลี่ย 6 เดือน – 1 ปี แต่มีราคาค่อนข้างสูง (13,000-16,000 บาท)

• การผ่าตัด เช่น ผ่าตัดจัดแนวกระดูกใหม่เพื่อลดเข่าโก่ง ส่องกล้องเข้าไปในข้อ หรือ ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

วิธีผ่าตัดถือว่าเป็นทางเลือกสุดท้าย จะใช้ในผู้ที่มีอาการมาก และรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล เท่านั้น


การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อ หรือ เจาะข้อเพื่อดูดน้ำไขข้อออก จะทำให้อาการปวดดีขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อผ่านไป 1-2 เดือน ก็จะกลับมาเป็นอีก และมีผลข้างเคียง เช่น กระดูกอ่อนผิวข้อบางลง ทำให้ข้อเสื่อมเร็วขึ้น กระดูกพรุน กล้ามเนื้อลีบ หรือ ติดเชื้อในข้อ จึงถือว่าเป็นเพียงแค่บรรเทาอาการชั่วคราวเท่านั้น

ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ก็ไม่ควรฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อ หรือ เจาะดูดน้ำไขข้อออก แต่ถ้าจำเป็นต้องฉีดยาสเตียรอยด์ หรือ เจาะข้อ ก็ต้องป้องกันการติดเชื้อขณะฉีดอย่างดี (ต้องใช้ผ้าปลอดเชื้อคลุมบริเวณที่ฉีด) และ ไม่ควรฉีดมากกว่าปีละ 2-3 ครั้ง หลังจากฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อ ต้องลดการใช้งานข้อข้างที่ฉีด ประมาณ 1-2 อาทิตย์ และใช้ผ้าพันรัดเข่าไว้ด้วย



ข้อแนะนำในการดูแลรักษาด้วยตนเอง

1. ลดน้ำหนัก เพราะเมื่อเดินจะมีแรงกดลงที่เข่าประมาณ 5 เท่าของน้ำหนักตัว แต่ถ้า วิ่ง จะมีแรงกดลงที่เข่า เพิ่มขึ้นเป็น 7 – 10 เท่าของน้ำหนักตัว ( การถีบจักรยาน เข่าจะรับแรงกดเพียง 1.5 เท่าของน้ำหนักตัวเท่านั้น )

ดังนั้น ถ้าลดน้ำหนักตัวได้ เข่าก็จะรับแรงกดน้อยลง ทำให้เข่าเสื่อมช้าลงและอาการปวดก็จะลดลงด้วย

2. ท่านั่ง ควรนั่งบนเก้าอี้สูงระดับเข่า ซึ่งเมื่อนั่งห้อยขาแล้วฝ่าเท้าจะวางราบกับพื้นพอดี

ไม่ควร นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งคุกเข่า นั่งยอง ๆ หรือ นั่งราบบนพื้น เพราะจะทำให้ผิวข้อเข่าเสื่อมเร็วมากขึ้น

3. เวลาเข้าห้องน้ำ ควรนั่งถ่ายบนโถนั่งชักโครก หรือ นั่งบนเก้าอี้สามขาที่มี รู ตรงกลาง วางไว้เหนือคอห่าน

ควรทำที่จับยึดบริเวณด้านข้างโถนั่ง เพื่อใช้จับพยุงตัวเวลาจะลงนั่งหรือจะลุกขึ้นยืน

ไม่ควรนั่งยอง ๆ เพราะผิวข้อเข่าเสียดสีกันมาก และเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงขาถูกกดทับ ทำให้เลือดไปเลี้ยงขาได้ไม่ดี

4. นอนบนเตียง ซึ่งมีความสูงระดับเข่า เมื่อนั่งห้อยขาที่ขอบเตียงแล้วฝ่าเท้าจะแตะพื้นพอดี

ไม่ควรนอนราบบนพื้นเพราะต้องงอเข่าเวลาจะนอนหรือจะลุกขึ้น ทำให้ผิวข้อเสียดสีกันมากขึ้น ข้อก็จะเสื่อมเร็วขึ้น

5. หลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันได ขณะขึ้นลงบันได จะมีแรงกดที่เข่าประมาณ 3 เท่าของน้ำหนักตัว

6. หลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งในท่าเดียวนาน ๆ ถ้าจำเป็นก็ให้ขยับเปลี่ยนท่า หรือ เหยียด-งอข้อเข่า บ่อย ๆ

7. การยืน ควรยืนตรง ขากางออกเล็กน้อย ให้น้ำหนักตัวลงบนขาทั้งสองข้างเท่า ๆ กัน

ไม่ควร ยืนเอียงลงน้ำหนักตัวบนขาข้างใดข้างหนึ่ง เพราะจะทำให้เข่าที่รับน้ำหนักมากกว่าเกิดอาการปวดได้

8. การเดิน ควรเดินบนพื้นราบ ไม่ควร เดินบนพื้นที่ไม่เสมอกัน เช่น บันได ทางลาดเอียงที่ชันมาก หรือ ทางเดินที่ขรุขระ เพราะทำให้น้ำหนักตัวที่ลงไปที่เข่าเพิ่มมากขึ้น และ อาจจะเกิดอุบัติเหตุหกล้มได้ง่าย
ควรใส่รองเท้าแบบมีส้นเตี้ย (สูงไม่เกิน 1 นิ้ว) หรือ ไม่มีส้นรองเท้า พื้นรองเท้านุ่มพอสมควร และ มีขนาดกระชับพอดี

9. ใช้ไม้เท้า โดยเฉพาะ ผู้ที่ปวดมากหรือข้อเข่าโก่งผิดรูป เพื่อช่วยรับน้ำหนัก และ ช่วยพยุงตัวเมื่อจะล้ม

วิธีถือไม้เท้า ในผู้ที่ปวดเข่ามากข้างเดียว ให้ถือในด้านตรงข้ามกับเข่าที่ปวด แต่ถ้าปวดทั้งสองข้างให้ถือในข้างที่ถนัด

10. บริหารกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า ให้แข็งแรง ซึ่งจะช่วยลดอาการปวด ทำให้ข้อเคลื่อนไหวและการทรงตัวดีขึ้น

11. การออกกำลังกายวิธีอื่น

ควรออกกำลังกายที่ไม่ต้องลงน้ำหนักมากนัก เช่น ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เดินเร็ว ๆ วิ่งเหยาะ ๆ เป็นต้น

ไม่ควร ออกกำลังกายที่ต้องมีการลงน้ำหนักที่เข่าเพิ่มขึ้น เช่น วิ่งเร็ว ๆ เต้นแอโรบิก ฟุตบอล เทนนิส แบดมินตัน บาสเกตบอล เพราะอาจทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบข้อเข่าเกิดการฉีกขาดได้และมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุหกล้มได้

12. ถ้ามีอาการปวด ให้พักการใช้ข้อเข่า และ ประคบด้วยความเย็น/ความร้อน หรือ ใช้ยานวดร่วมด้วยก็ได้


ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมให้หายขาดได้

จุดมุ่งหมายในการรักษาทุกวิธีคือ เพื่อลดอาการปวด ทำให้ข้อเคลื่อนไหวดีขึ้น ป้องกันหรือแก้ไขข้อที่ผิดรูป เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามสมควร

จึงถือว่าแนวทางรักษาข้างต้นเป็นเพียงการรักษาปลายเหตุ เพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น และ ยังมีข้อจำกัดในการรักษาอีกด้วย เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะสามารถใช้งานได้ใกล้เคียงกับธรรมชาติ และ บรรเทาอาการปวดได้ดี แต่ก็มีอายุใช้งานได้นานแค่ 10 -15 ปี

Cr. หมอหมู

Friday, July 5, 2013

ระบบน้ำเหลือง

ระบบน้ำเหลือง


ระบบน้ำเหลืองของร่างกายประกอบขึ้นด้วย ต่อมน้ำเหลือง ม้าม ต่อมไทมัส ต่อมทอนซิล 
 
หน้าที่หลักของน้ำเหลือง ก็คือ หล่อเลี้ยงเซลล์ทั่วร่างกาย ถ่ายเทของเสียออกจากเซลล์และเนื้อเยื่อ กลับเข้าไปในกระแสเลือดเพื่อกรองโดยตับและไต ก่อนที่จะขับขยะมีพิษต่างๆออกไปจากร่างกายทางอุจจาระ ปัสสาวะ เหงื่อ 
 
ขยะมีพิษเหล่านี้ได้แก่ของเสียในร่างกาย สารเคมี ยา บุหรี่ สารปรุงแต่งอาหาร ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี มลพิษในอาหาร อากาศ น้ำ เครื่องดื่ม 
 
Dr. Ann Louise Gittleman, PhD, ประมาณการว่ากว่า 80%ของสตรีมีระบบน้ำเหลืองที่ติดขัด ไม่ไหลเวียน ดังนั้นผู้หญิงที่ต้องการควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วนและสุขภาพแข็งแรงจะต้องหันกลับมาให้ความสำคัญในการเพิ่มการไหลเวียนของระบบน้ำเหลืองให้ดีขึ้น 
 
นอกจากนี้แล้วการไหลเวียนของระบบน้ำเหลืองที่ดีขึ้นยังทำให้ร่างกายหาย ฟื้นจากอาการบาดเจ็บ ป้องกันไม่ให้อ้วน ป้องกันมิให้เกิดเซลลูไลท์ ลดอาการปวดตามข้อ ปวดศีรษะอีกด้วย

วิธีการเสริมสร้างการไหลเวียนของระบบน้ำเหลืองให้ดีขึ้น 

1. หายใจให้ลึกๆ อย่าลืมว่าร่างกายเรามีปริมาณน้ำเหลืองมากกว่าน้ำเลือดถึง 3เท่าตัว แต่ร่างกายเราไม่มีอวัยวะใดที่ทำหน้าที่สูบฉีดน้ำเหลืองไปทั่วร่างกายเหมือนหัวใจสูบฉีดเลือด ระบบน้ำเหลืองต้องอาศัยการหายใจลึกๆเท่านั้นในการขับดันการไหลเวียนของน้ำเหลืองไปตามเซลล์และอวัยวะ !!!! หากเราหายใจไม่ลึกพอ อนิจจา …ของเสียก็ต้องตกค้างไม่สามารถกลับเข้าสู่ระบบเลือดได้ พิษก็ตกค้างในระบบน้ำเหลืองต่อไป 
 
2. อย่านั่งๆนอนๆ ต้องขยับแข้งขาเร่งให้น้ำเหลืองได้ไหลเวียน ออกกำลัง กระโดดเชือก แอโรบิค เดินขึ้น-ลงบันได 
 
3. ดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยวันละ 2 ลิตรเร่งการชะล้างและการไหลเวียน จะดีขึ้นไปอีกหากบีบน้ำมะนาวลงไปในแก้วน้ำทุกครั้งที่ดื่มเพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนและเร่งการดูดซึมน้ำเข้าเซลล์ 
 
4. เลิกดื่มน้ำอัดลม โซดา น้ำหวานทุกชนิดเพราะ น้ำตาล สีผสมอาหาร สารกันบูดทำให้สร้างภาระอันหนักกับระบบน้ำเหลือง 
 
5. ทานผลไม้สดขณะท้องว่าง ก่อนอาหาร30 นาที (เพราะผลไม้เกือบทุกชนิดถูกย่อยภายในเวลาไม่เกิน30 นาที) เพราะเอ็นไซม์และกรดผลไม้ช่วยชำระล้างระบบน้ำเหลือง ทั้งยังถูกย่อยได้หมดเกลี้ยงขณะท้องว่าง 
 
6. ทานผักใบเขียวมากๆเพื่อเพิ่มปริมาณคลอโรฟิลล์ ช่วยชำระล้างเลือดและน้ำเหลือง.
 
7. ทานถั่ว ถั่วเปลือกแข็ง ธัญญพืชที่ไม่ผสมเกลือ (เช่นเม็ดฟักทอง เม็ดทานตะวัน ) เพื่อเพิ่มกรดไขมันดีๆและโปรตีน 
 
8. ดื่มชาสมุนไพรที่มีสรรพคุณเสริมการทำงานของระบบเลือดและน้ำเหลือง 
 
9. ทุกครั้งที่อาบน้ำ ถูตัว แขนขา เท้า ด้วยแปรงขนอ่อน เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของน้ำเหลือง ขัดถูลักษณะวงกลมในทิศทางเข้าหาศูนย์กลางร่างกายคือหัวใจ 
 
10. อาบน้ำเย็นและร้อนสลับกันไปมาหลายๆนาทีเพื่อให้ความร้อนขยายเส้นเลือด และน้ำเย็นทำให้เส้นเลือดหดบีบตัว เป็นการเร่งการไหลเวียนน้ำเหลืองใต้ผิวหนัง (แต่ต้องหลีกเลี่ยงในผู้ป่วยโรคหัวใจ ความดัน สตรีมีครรภ์ )
 
11. การนวดอย่างเบาๆตามผิวหนังทั่วตัว ช่วยเร่งการไหลเวียนของน้ำเหลืองได้มากถึง 78% ทำให้พิษที่คั่งค้างในน้ำเหลืองถูกขับออกได้มากขึ้น ในการนวดพึงสังวรณ์ไว้อย่างหนึ่งคือ การนวดแรงๆอาจรู้สึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้ดี แต่ไม่เป็นผลดีต่อระบบน้ำเหลืองเลย
 
Source : Wellness 2012

Saturday, June 15, 2013


ออกกำลังกายตอนไหนดี ?


บางตำราก็บอกว่า ตอนเช้าหลังจากตื่นนอน บางตำราก็บอกว่า ตอนเย็น ?

วิทยาศาสตร์การแพทย์และการกีฬาต่างเห็นพ้องกันว่าการออกกำลังกายตอนเช้า ดีที่สุดโดยเฉพาะในรายที่ต้องการลดน้ำหนัก การออกกำลังไม่ว่าจะแบบแอโรบิคหรืออื่นใ...ด ก่อนอาหารเช้าจะมีผลเผาผลาญไขมันได้มากกว่าเวลาหลังอาหาร

เพราะหลังจากอดอาหารขณะนอนหลับมาหลายชั่วโมง ระดับน้ำตาลในเลือด และน้ำตาลที่สะสมตามกล้ามเนื้อและตับจะมีปริมสณต่ำที่สุด ดังนั้นพอออกกำลังกาย ร่างกายจะไปดึงไขมันที่สะสมออกมาเป็นแหล่งพลังงานทันที แต่หากคุณมีข้อจำกัดไม่สามารถออกกำลังในเวลาดังกล่าวได้ ก็ควรออกกำลังหลังทานอาหารแล้วอย่างน้อย 2-3ชั่วโมง

มีการแพร่ความเชื่อว่าก่อนออกกำลังต้องทานอะไรเข้าไปเพื่อให้เป็นแหล่งพลังงาน นับได้ว่าผิดหลักการอย่างยิ่ง เพราะการออกกำลังครั้งนั้นจะไม่เกิดผลเผาผลาญไขมันส่วนเกินแต่อย่างใด เพราะร่างกายจะหันไปใช้น้ำตาลหรือคาร์โบไฮเดรตที่เราเพิ่งทานหรือดื่มเข้าไปก่อนออกกำลังนั่นเอง ยิ่งหากว่าคุณทานหรือดื่มอาหารเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูงๆ ก็ปิดประตูไปเลยสำหรับการเผาผลาญไขมันส่วนเกินที่คุณต้องการ

มีความจริงที่คุณควรทราบก็คือการลดน้ำหนักด้วยการออกกำลังกายอย่างเดียวนั้นประสบความสำเร็จน้อย

ในปี 2009 มีการตีพิมพ์รายงานการศึกษาใน วารสาร British Journal of Sports Medicine พบว่า ผลการลดน้ำหนักในคนอ้วน จำนวน 58 คนที่เข้าร่วมโปรแกรมออกกำลังแอโรบิคตลอด 12 สัปดาห์ เฉลี่ยลดได้ประมาณ 7 ปอนด์ ( ยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค) แต่บางคนแทบไม่ลดเลยก็มี

ย้อนกลับไปดูผลการศึกษาของ University of Colorado School of Medicine โดยกลุ่มทดลองอาศัยภายในห้องที่ติดตั้งเครื่องวัดอัตราการเผาผลาญพลังงาน หลังจากการบริโภคอาหารประเภทไขมัน และคาร์โบไฮเดรตเปรียบเทียบกัน เพื่อศึกษาว่าการออกกำลังกายจะมีผลต่อเนื่องในการเผาผลาญไขมันระหว่างวันอย่างไร? ปรากฏว่าการออกกำลังไม่ได้เผาผลาญไขมันใดๆ นักวิจัยสรุปว่าการออกกำลังหนักๆจะมีผลไปดึงนำ้ตาลที่สะสมในกล้ามเนื้อและตับออกมาใช้งาน แต่ไม่ได้ดึงไขมันออกมาใช้งาน แต่หากออกกำลังเบาๆอย่างค่อยเป็นค่อยไป กลับจะมีผลในการเผาผลาญไขมันได้ดีกว่า

ผลการวิจัยนี้สนับสนุนให้ควบคุมการบริโภคอาหารมิให้มีแคลอรี่ส่วนเกินร่วมกับการออกกำลังอย่างสมำ่เสมอ

อ่านมาอย่างนี้แล้วคนขี้เกียจออกกำลังอาจกระหยิ่มได้ใจ

แต่ขอย้ำว่าถึงแม้การออกกำลังกายจะมีผลลดน้ำหนักได้ไม่มากนัก แต่การออกกำลังนั้นมีคุณค่ามหาศาลต่อหัวใจ ความดันโลหิต ความแข็งแกร่งของกล้ามเนื่อและไขข้อ ปรับสมดุลฮอร์โมนและสภาพจิตและอารมณ์ได้เป็นอย่างดี

เรียบเรียงจากงานเขียนของ นายแพทย์ Andrew Weil, M.D.
 
 
Source: Wellness2012

Thursday, June 13, 2013

สารอาหารที่ช่วยสมานบาดแผลให้หายเร็วขึ้น



โปรตีน

มีอยู่ในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ นม และผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ รวมถึงถั่วเหลือง ถั่วเมล็ดแห้ง เป็นต้น

โปรตีนจะช่วยในการสร้างเนื้อเยื่อ ทำให้เซลล์แต่ละเซลล์ประสานยึดติดเป็นเนื้อเดียวกัน
แนะนำให้รับประทานเพิ่มจากปริมาณเดิมที่เคยรับประทานวันละ 2 ช้อนโต๊ะ


วิตามินซี

วิตามินซี ทำหน้าที่สร้างผนังของเซลล์ ทำให้เส้นเลือดฝอยมีความแข็งแรง และไม่ก่อให้เกิดการอักเสบ อีกทั้งยังช่วยในการไหลเวียนของเลือดให้ดีขึ้น จึงทำให้บาดแผลหายเร็วขึ้น

วิตามินซีมีมากในผลไม้สดทุกชนิด พบมากในฝรั่ง มะละกอ ส้มต่างๆ
สำหรับผักที่มีวิตามินซีสสูง ได้แก่ บร็อคโคลี่ พริกหวานสีแดง
ปริมาณที่ควรรับประทาน 100-200 มิลลิกรัมต่อวัน


ธาตุสังกะสี

ธาตุสังกะสีจะช่วยให้เซลล์สามารถจับกับวิตามินได้มากขึ้น กระตุ้นให้แผลหายเร็วขึ้น
ธาตุสังกะสีพบมากในเนื้อสัตว์ นม ไข่ ตับ ชีส ถั่วเหลือง

การดูแลบาดแผล หลังจากได้รับการรักษาบาดแผลโดยแพทย์แล้ว นอกจากความระมัดระวังเรื่องการติดเชื้อของแผลตามคำแนะนำของแพทย์แล้ว การเอาใจใส่เรื่องอาหารที่รับประทานในระหว่างฟื้นฟูบาดแผล ก็เป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น อย่าละเลยเรื่องคุณค่าอาหารที่เหมาะสม
เพื่อช่วยส่งเสริมการฟื้นฟูบาดแผลให้หายเร็วยิ่งขึ้น



สาระสุขภาพโดยเภสัชกรอุทัย

Wednesday, May 29, 2013

วิธีลดฝ้าและกระ

หัวผักกาด หรือ หัวไชเท้า (White Radish)

หัวไชเท้าเป็นแหล่งวิตามิน C, Iron, Potassium, Copper, วิตามิน B6, Folate, Calcium, Magnesium,  Phosphorus

นำหัวไชเท้า 1 หัว มาล้างน้ำให้สะอาด ปอกเปลือก หั่นบาง ๆ นำไปปั่นให้พอละเอียด ห่อผ้าแล้วคั้นเอาแต่น้ำ

นำน้ำคั้นหัวไชเท้า เทลงบนสำลีแผ่น พอกทั่วผิวหน้า ทิ้งไว้ประมาณ 20 นาที แล้ว ทาครีมบำรุงผิวต่อเลย  (ไม่ต้องล้างออกด้วยน้ำ)

หรีอใช้น้ำคั้นหัวไชเท้า ทาทั่วผิวหน้า ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้ว ทาครีมบำรุงผิวต่อเลย  (ไม่ต้องล้างออกด้วยน้ำ) ทำเป็นประจำจะช่วยลดฝ้าและกระให้จางลง ผิวพรรณดูสดใสเปล่งปลั่ง

ครั้งแรก อาจแสบผิวเนื่องจากกรดวิตามิน C  อาจเจือจางด้วยน้ำนิดหน่อย หรีอ ผสมน้ำผึ้ง ครั้งต่อไปอาการแสบผิวลดลง หรือ ไม่เป็นอีก  

น้ำคั้นหัวไชเท้าที่เหลือ แชช่องแข็ง เก็บได้ 3-5 วัน ทาทุกวัน

ฝ้ากระค่อยๆจางลงจริงๆค่ะ ลองมาแล้ว




------------------------------------------------------
บทความนี้ถูกเรียบเรียงขึ้นใหม่โดยเว็บไซต์ http://easydtox.blogspot.com/ 
ท่านสามารถเผยแพร่ไปยังเว็บไซต์อื่นๆได้ แต่ต้องไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์  และห้ามตัดต่อ เรียบเรียง เนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด การนำบทความนี้ไปใช้ กรุณาสร้าง Link อ้างอิงกลับมายังบทความนี้ด้วย ขอบคุณค่ะ

Monday, May 27, 2013

มะละกอดิบต้มน้ำชงชา ล้างไขมันในลำไส้

ชามะละกอ (มะละกอดิบต้มน้ำชงชา) ล้างไขมันในลำไส้

ชามะละกอ คือการนำเอามะละกอดิบมาปอกเปลือก แล้วหั่นเนื้อมะละกอใส่หม้อ เติมน้ำ ต้มให้เดือด แล้วตักเนื้อมะละกอไป เอาเฉพาะน้ำมาใช้ชงชาเพื่อดื่มแทนชาทั่วไป

เมื่อดื่มชามะละกอ จะเป็นการล้างลำไส้โดยไม่ต้องสวนทวาร ช่วยล้างระบบดูดซึม คือล้างคราบไขมันที่ผนังสำไส้ อันเนื่องมาจากการกินอาหารผัดน้ำมันเป็นประ...จำ คราบไขมันจะเกาะตัวที่ผนังลำไส้เป็นกาวเหนียว จึงเกิดอาการขัดขวางการดูดซึมสารอาหาร และวิตามินที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

เมื่อระบบดูดซึมไม่ดี หรือดููดซึมไม่ได้ เวลากินอาหารก็จะได้แค่อิ่ม แต่ไม่ได้สารอาหาร เป็นเป็นอย่างนี้ นานวันเข้า ความเจ็บป่วยก็จะเข้ามาเยือน

เมื่อร่างกายปกติ ไม่เจ็บไม่ป่วย ก็ควรล้างลำไส้ไว้บ้าง เพื่อล้างคราบน้ำมันเก่าที่ค้างอยู่ที่เคยกินอาหารผัดน้ำมันมานานหลายปี

สูตรชามะละกอ

- มะละกอดิบไม่อ่อนเกินไปครึ่งลูก
- ชาเขียว หรือชาจีน หรือชาใบหม่อน อย่างใดอย่างหนึ่ง

วิธีทำ

ปอกเปลือกมะละกอล้างให้สะอาด แล้วหั่้นแบบชิ้นฟัก ไม่ถึงครึ่งลูก (ประมาณ 3 กำมือ) ใส่ลงไปหม้อเติมน้ำ 3 ลิตร ตั้งไฟ จะเติมดอกเก๊กฮวย ใบเตย หรือรากเตย ก็ใส่ลงไปพร้อมกับมะละกอดิบ พอน้ำเริ่มเดือดได้สัก 3 นาที ก็ยกลงได้ อย่าต้มมะละกอจนเนื้อเละต่อไปก็ตักน้ำมะละกอและดอกเก๊กฮวยออกให้เหลือแต่น้ำ เอาน้ำร้อนที่เหลือทั้งหมดนั้นไปชงชา ใส่ใบชาประมาณครึ่งกำมือ มากหรือน้อยตามความต้องการ (ห้ามแช่ใบชานานเกิน 3 นาที เพราะถ้าเกิน 3 นาที สารแทนนินของใบชาจะออกมาจากใบชา กินแล้วทำให้ท้องผูก นอนไม่หลับ) แล้วกรองใบชาทิ้งไปทั้งหมด ตั้งทิ้งไว้ให้เย็นก็ดื่มได้เลย หรือจะบรรจุขวดเก็บไว้ในตู้เย็นก็ได้ เก็บได้ประมาณ 3 วัน

สารของมะละกอจะเกิดการถักทอกับสารของใบชาทำให้ช่วยย่อยไขมันและล้างไขมันออกจากผนังลำไส้ควรดื่มเพื่อล้างเป็นประจำ ดื่มแทนน้ำอัดลมได้ (เด็ก ผู้ใหญ่ดื่มได้ ไม่ต้องสงสัยรอโทรถามใคร)

ถ้าไม่ล้างลำไส้ ก็เปรียบเหมือนกินข้าวไม่ล้างจานแล้วใช้จานใบเก่าที่ไม่ล้าง เอามาใส่ข้าวกินใหม่
เมื่อล้างลำไส้แล้ว ก็ควรกินอาหารที่มีประโยชน์เพื่อไปบำรุงร่างกายด้วย ถ้าหลีกเลี่ยงอาหารผัดน้ำมันไม่ค่อยได้ ก็กินเท่าที่จำเป็น คือ กินให้น้อยลง แล้วกินชามะละกอไปล้างลำไส้ทุกวันเมื่อมีเวลาว่าง

การทำชามะละกอกินเพื่อล้างลำไส้ให้ได้ประโยชน์ที่จริงแล้วไม่ควรเติมน้ำตาล ยกตัวอย่างเช่น เรากินข้าวขาหมู แล้วกินของหวานหรือชาที่เติมน้ำตาล มันจะทำให้ไขมันกลายเป็นไขมันฝ่ายร้ายได้ หรือมือไหนที่เรากินไขมัน เช่น เนื้อติดมัน ก็ไม่ควรกินของหวานตามเข้าไป ควรกินกระเทียมเป็นตัวลดโคเลสเตอรอล แล้วกลับมาบ้านเราก็กินชามะละกอ เพื่อล้างไขมันในลำไส้ออกไป

น้ำมะพร้าวอ่อน

Source: มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

มีคำโบราณกล่าวไว้ว่า หญิงที่มีประจำเดือนเมื่อดื่มน้ำมะพร้าวอ่อน  จะทำให้ประจำเดือนหยุดไปหรือกลายเป็นประจำเดือนกะปริดกะปรอยและทำให้มีประจำเดือนครั้งต่อไปล่าช้ากว่าปกติ และคนสมัยก่อนมักแนะนำให้สตรีวัยทองดื่มน้ำมะพร้าว เพื่อลดอาการวูบวาบจากภาวะหมดประจำเดือน ในเรื่องนี้มีนักวิจัยไทย จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดร.นิซาอูดะห์ ระเด่นอาหมัด อาจารย์ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลา นครินทร์ (ม.อ.) ได้ทำการทดลองหาว่าในน้ำมะพร้าวอ่อนจะมีฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนอยู่หรือไม่  และได้ศึกษาวิจัย เรื่องผลของน้ำมะพร้าวอ่อนต่อการชะลอการเกิดพยาธิสภาพโรคอัลไซเมอร์    โดยได้ทำการทดลองในหนูขาวเพศเมีย อายุ 4 เดือน ที่ถูกตัดรังไข่ออกและแบ่งหนูเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้น้ำมะพร้าวปริมาณ 100 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน และอีกกลุ่มไม่ให้น้ำมะพร้าวทำเช่นนี้เป็นเวลา 5 สัปดาห์ จากนั้นนำหนูขาวไปผ่าสมองเพื่อตรวจสอบระดับเซลล์ประสาท ผลการตรวจสอบพบว่า หนูขาวที่ได้รับน้ำมะพร้าวจะมีอัตราการตายของเซลล์ประสาทน้อยกว่าหนูที่ไม่ได้รับน้ำมะพร้าว นอกจากนี้ยังพบว่าน้ำมะพร้าวอ่อนมีผลทำให้การสมานแผลเร็วขึ้น อีกทั้งยังไม่มีรอยแผลเป็นอีกด้วย ขนจะนุ่มและผิวจะขาวใสขึ้นอย่างเห็นได้ชัด   จากการทดลองพบว่าน้ำมะพร้าวอ่อนมีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง และมีส่วนช่วยลดพยาธิสภาพของโรคอัลไซเมอร์ได้   ขณะเดียวกัน เมื่อไม่นานมานี้มีผลการศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่าเอสโตรเจนอาจมีบทบาทที่สำคัญมาก ต่อระบบประสาทส่วนกลาง  โดยอาจไปกระตุ้นการเจริญของเซลล์ประสาท 

อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่าในการทดลองนี้มีการให้น้ำมะพร้าวอ่อนกับหนูทดลองในขนาดที่มาก คือให้น้ำมะพร้าวอ่อน 100 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน  ดังนั้นถ้าเทียบกับในคน เช่นคนที่มีน้ำหนักตัว 50 กิโลกรัมจะมิต้องใช้น้ำมะพร้าวอ่อน 5000 มิลลิลิตร หรือ 5 ลิตรต่อวันเชียวหรือ  และน้ำมะพร้าวนั้นมีไฟโตรเอสโตรเจน ซึ่งไม่ใช่เอสโตรเจน

นอกจากน้ำมะพร้าวอ่อนแล้วยังมีพืชอีกหลายชนิดที่มีฮอร์โมน ที่เรียกว่า ไฟโตเอสโตรเจน( Phytoestrogen) ซึ่งมีสูตรโครงสร้างหรือสารที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาคล้ายฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน ซึ่งจากการสังเกตการใช้ทางพื้นบ้าน และการสังเกตผลการรับประทานสมุนไพรในด้านต่างๆ เช่น การเพิ่มน้ำนมให้กับสตรีหลังคลอดบุตร หรือประชาชนในประเทศจีนที่รับประทานพืชบางชนิดแล้วสามารถคุมกำเนิดได้ หรือสังเกตจากสตรีที่รับประทานพืชบางชนิดแล้วทำให้สตรีนั้นเป็นหมัน หรือในประเทศญี่ปุ่นซึ่งประชากรมีอุบัติการณ์ของการเกิดโรคมะเร็งเต้านมและต่อมลูกหมากต่ำ คาดว่าเนื่องมาจาก การที่คนญี่ปุ่นได้รับไฟโตรเอสโตรเจนจากการบริโภคผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองอยู่เป็นประจำ เมื่อเปรียบเทียบการบริโภคอาหารถั่วเหลืองนั้น ประมาณกันไว้ว่าการได้รับผลิตภัณฑ์อาหารถั่วเหลืองในคนญี่ปุ่นได้รับสูงสุดคือ เป็น isoflavones 200  มิลลิกรัม/วัน ส่วนคนเอเชียอื่น ๆ ได้รับ 25-45 มิลลิกรัม/วันและประเทศทางตะวันตกได้รับน้อยกว่า   5 มิลลิกรัม/วัน รวมทั้งอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งที่สัมพันธ์กับฮอร์โมนระหว่างชาวฟินแลนด์ อเมริกัน และญี่ปุ่น พบว่าคนญี่ปุ่นซึ่งมีการขับถ่ายไฟโตรเอสโตรเจนออกมาในปริมาณมากที่สุดทางปัสสาวะนั้นมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่ำสุด  ซึ่งแง่มุมเหล่านี้ทำให้มีการศึกษาเกี่ยวกับสารประกอบในพืชที่มีฤทธิ์เหมือนเอสโตรเจนคือสามารถออกฤทธิ์ต่อเซลล์ของผนังมดลูก รังไข่ และเต้านม โดยทำให้เยื่อบุผนังช่องคลอดนาขึ้น หรือกระตุ้นการทำงานของเยื่อบุปากมดลูกให้มีการหลั่งเมือกที่ปากมดลูกมากขึ้น หรือเพิ่มการเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนกล้ามเนื้อที่มดลูกหนาขึ้น หรือมีผลต่อการเจริญเติบโตของต่อมน้ำนมที่เต้านม

ไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogen)

ไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogen)

สารที่มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน

ไฟโตรเอสโตรเจนนี้ประกอบไปด้วยสารหลายกลุ่มเช่น

  • สารกลุ่ม isoflavone สารกลุ่มนี้จะมีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิงมาก เนื่องจากสูตรโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนเพศ และสามารถจับกับตัวรับเอสโตรเจนในเซลล์( estrogen receptor )ได้มีสารกลุ่มนี้ได้แก่ genistein ที่พบในถั่วเหลือง ถั่วเขียว หญ้าแพรก alfalfa ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกสู่ตลาดในปัจจุบัน daidzein พบในถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วดำ เมล็ด alfalfa, miroestrol พบในกวาวเครือ Chandalone และ osajin พบในเถาวัลย์เปรียง Formononetin พบในชะเอมเทศ
  • สารกลุ่ม terpene สารกลุ่มนี้แสดงฤทธิ์เป็น estrogenic activity ได้แก่สารในกลุ่ม triterpenoid saponin ได้แก่ asiaticoside ในใบบัวบก emarginatoside B และ C จากผลมะคำดีควาย ursolic acid พบในพืชทั่วไปและพบมากในผลคัดเค้า  
  • สารกลุ่ม lignan สารกลุ่มนี้ที่มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศคือ enterolactone และ Enterodiol จะพบมากในเส้นใยในพืช ดังนั้น สตรีวัยใกล้หมดประจำเดือนจะถูกแนะนำให้รับประทานผักหรือพืชที่มีเส้นใยมาก เนื่องจากมีสารดังกล่าวที่แสดงฤทธิ์เป็น estrogenic effect นั่นเอง 
  
ไฟโตรเอสโตรเจนและโรคมะเร็ง

ประชากรในภูมิภาคเอเซียและยุโรปตะวันออกพบการเกิด มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่  มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก และรวมถึงโรคหลอดเลือดหัวใจ น้อยกว่าทางประเทศแถบตะวันตกมาก ทางระบาดวิทยาพบว่าไฟโตรเอสโตรเจนมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการป้องกันภาวะเหล่านี้ในคนเอเซียโดย เฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคถั่วเหลือง   รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากถั่วเหลือง เป็นประจำซึ่งเป็นแหล่งหลักของ   isoflavones คนญี่ปุ่นซึ่งรับประทานอาหารประเภทนี้มาก   พบว่าพบอุบัติการของมะเร็งที่สัมพันธ์กับฮอร์โมนน้อยที่สุด   ในขณะที่คนญี่ปุ่น ซึ่งอพยพออกจากประเทศแล้วดำเนินวิถีชีวิตแบบชาวตะวันตก พบว่าความเสี่ยงเพิ่มขึ้น  จากการศึกษาพบว่าไฟโตรเอสโตรเจนสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งของมะเร็งเต้านมได้ 18-20%   มะเร็งลำไส้ใหญ่15-30 %
  จากรายงานการวิจัยกล่าวว่าผลของไฟโตรเอสโตรเจนที่เกี่ยวกับเซลล์มะเร็ง อาจแยกได้เป็น 2 แง่ คือ จากการแสดงฤทธิ์เป็น เอสโตรเจน และจากฤทธิ์ antioxidant ของสาร  ฤทธิ์ในลักษณะเอสโตรเจนของไฟโตรเอสโตรเจนเกิดขึ้นได้เนื่องจากสารเหล่านี้มีสูตรโครงสร้างบางส่วนคล้ายคลึงกับฮอร์โมนเพศหญิง estradiol  และถึงแม้ว่าสารกลุ่มนี้จะจับกับreceptor  ซึ่งคือตัวจับกับตัวรับของเอสโตรเจนของเซลล์ได้ไม่ดีเท่า estradiol เอง  นอกจากนี้การจับกันดังกล่าวก็สามารถทำให้เกิดการตอบสนองในเซลมะเร็งต่างๆ กันไปได้ทั้งในลักษณะที่เหมือนกับผลของเอสโตรเจนเองหรือเป็นในทางตรงกันข้าม    ที่ระดับความเข้มข้นต่ำๆไฟโตรเอสโตรเจนบางตัวสามารถแสดงฤทธิ์เหมือนเอสโตรเจนโดยกระตุ้นการเจริญของเซลล์   แต่ขณะเดียวกัน ที่ความเข้มข้นสูงขึ้น ไฟโตรเอสโตรเจนชนิดเดียวกันนั้นลับแสดงฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเซลล์แทน(anti-estrogen)  ลักษณะของปรากฏการณ์ที่เป็น biphasic เช่นนี้ยังไม่เป็นที่เข้าใจกันดีนัก และอาจจะเกี่ยวข้องกับศักยภาพของ ไฟโตรเอสโตรเจนเหล่านี้ในการแสดงฤทธิ์ที่ขึ้นกับตัวแปรหลายๆ อย่างได้ที่ความเข้มข้นต่ำ แต่ที่ความเข้มข้นสูงกลับแสดงฤทธิ์โดยใช้กลไกคนละแบบกับเอสโตรเจน  บางรายงานกล่าวว่าไฟโตเอสโตรเจนที่ได้หลังการรับประทานอาหารที่มีไฟโตเอสโตรเจนในปริมาณปกติ ไฟโตเอสโตรเจนจะแย่งจับ Estrogen Receptor กับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย(anti-estrogen)   และช่วยป้องกันการเติบโตของเซลล์ที่ถูกกระตุ้นด้วยได้ด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน ดังนั้นไฟโตเอสโตรเจนจึงอาจจะลดหรือยับยั้งฤทธิ์ของเอสโตรเจนที่มีต่อเซลล์หรือเนื้อเยื่อที่ตอบสนองต่อเอสโตรเจน เช่น เนื้อเยื่อเต้านม เป็นต้น ซึ่งทำให้ไฟโตเอสโตรเจนช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมได้
  
เช่นเดียวกับงานวิจัยต่างๆที่ยังไม่มีผลสรุปที่แน่นอน อาจเนื่องจากในการวิจัยนั้นมีประชากรที่ใช้ในการวิจัยไม่มากพอ  หรืออาจเกิดจากเชื้อชาติที่ต่างกัน  สิ่งแวดล้อมอื่นๆที่แตกต่างกัน  หรือวิธีการทดลองที่แตกต่างกันจึงทำให้ผลลัพธ์ของนักวิจัยแต่ละกลุ่มแตกต่างกันออกไป      ในเรื่องไฟโตเอสโตรเจนนี้ก็เช่นเดียวกัน นักวิจัยก็ยังมีความเห็นที่เหมือนกันและต่างกัน  ที่ยอมรับกันทั่วไปก็คือไฟโตรเอสโตรเจนตัวเดียวกันจะมีฤทธิ์ที่ทั้งคล้ายกับเอสโตรเจน และฤทธิ์ต้านเอสโตรเจน(anti-estrogenic effect)   ส่วนความเห็นที่ยังขัดแย้งกันคือไฟโตรเอสโตรเจนนี้จะมีผลเช่นเดียวกับเอสโตรเจนทุกอย่างหรือไม่ เพราะหากไฟโตรเอสโตรเจนมีผลที่เหมือนกับเอสโตรเจนทุกอย่างก็จะมีผลที่ไม่ดีต่อมะเร็งบางชนิดที่ไวต่อฮอร์โมนเอสโตรเจน  เช่น มะเร็งเต้านม หรือมะเร็งมดลูก  แต่นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ก็ยอมรับว่าไฟโตรเอสโตรเจนในระดับที่สูงจะมีฤทธิ์ที่ขัดขวางการทำงานของเอสโตรเจนได้ ซึ่งจะทำให้มีผลดีต่อมะเร็งที่เอสโตรเจนเป็นตัวกระตุ้นในการทำให้เกิดมะเร็งพวกนี้  แต่ก็ให้เหตุผลไม่ได้ว่าเหตุใดไฟโตรเอสโตรเจนที่ระดับความเข้มข้นต่างกันจึงให้ฤทธิ์ที่แตกต่างตรงข้ามกัน
  
ผู้เขียนมีความเห็นในเรื่องนี้ว่า ไฟโตรเอสโตรเจนนั้นน่าจะมีฤทธิ์ที่คล้ายกับเอสโตรเจนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ได้มีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเอสโตรเจน(anti-estrogenic effect)โดยตรง  เพียงแต่การที่ไฟโตรเอสโตรเจนนั้นมีโครงสร้างที่คล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจนจึงไปแย่งที่กับเอสโตรเจนที่จะไปจับกับตัวรับเอสโตรเจน( estrogen receptor)ในเซลล์  แต่การออกฤทธิ์ของไฟโตรเอสโตรเจนนี้จะไม่เหมือนกับเอสโตรเจนไปทั้งหมดทีเดียว ในหญิงที่ร่างกายมีเอสโตรเจนไม่เพียงพอ ไฟโตรเอสโตรเจนนี้จะทำหน้าที่คล้ายเอสโตรเจนโดยจะไปเสริมในส่วนที่ยังขาด จึงมีผลช่วยบรรเทาอาการของการขาดเอสโตรเจนได้ในหญิงที่หมดประจำเดือน แต่ไฟโตรเอสโตรเจนมีผลในแง่ที่ต่างกับเอสโตรเจนก็คือจะไม่มีผลไปกระตุ้นต่อเซลล์มะเร็งที่ไวต่อเอสโตร เจน  และการที่ไฟโตรเอสโตรเจนไปแย่งที่กับเอสโตรเจนได้ ก็จะทำให้เอสโตรเจนที่ร่างกายมีอยู่ออกฤทธิ์ได้น้อยลง  และในระดับที่ยิ่งมีความเข้นข้นของไฟโตรเอสโตรเจนในร่างกายมากขึ้นเท่าใดก็จะยิ่งไปแย่งที่การจับกับเอสโตรเจนได้มากขึ้นเท่านั้น จึงยิ่งทำให้มีผลดีต่อการรักษามะเร็งเต้านม  มะเร็งมดลูก  และในขณะเดียวกันผลที่คล้ายกับเอสโตรเจนนี้ก็จะไปขัดขวางการทำงานของฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมากได้ด้วยเช่นกัน
ไฟโตรเอสโตรเจนพบได้ในพืชกว่า 70 ชนิด ทั้งพืชที่เป็นสมุนไพรและพืชที่เป็นอาหาร  เช่น

ในสมุนไพรจะพบได้ใน พลู (ใบ, ราก)  ดีปลี (ราก) ลักกะจั่น จันทร์แดง หญ้าคา, หญ้าแพรก (ใบและเมล็ด) แห้วหมู (ราก) สบู่ดำ (เมล็ด) ระหุ่ง (เมล็ด) น้ำนมราชสีห์ (ทั้งต้น) ลูกใต้ใบ (ทั้งต้น) คูน (ผล) มะกล่ำตาหนู (เมล็ด) กวาวเครือ (ราก) ตังกุย (ราก)  ทองกวาว (ราก) ชบาแดง (ราก, ดอก) ฝ้ายแดง (เมล็ด) เจตมูลเพลิงแดง (ราก) คัดเค้า (ผล) มะคำดีควาย (ผล) เทียนดำ (เมล็ด) เทียนสัตตบุตษ์ (เมล็ด)  เทียนข้าวเปลือก (เมล็ด) คนทีเขมา (เมล็ด) ปาล์ม (เมล็ด) ว่านชัดมดลูก (เหง้า) ขิง (เหง้า) ประทัดจีน (แก่น) สะเดาอินเดีย (ใบ) แพงพวยฝรั่ง (ใบ, ราก) หญ้าหัวโต (ทั้งต้น) ครามป่า (เมล็ด) ชิงดอกเดียว (ราก) ส้มกุ้ง (ราก) อีหรุด น้อยหน่า (เมล็ด)  

ส่วนในพืชที่เป็นอาหาร เช่น  กระเจี๊ยบแดง (กลีบเลี้ยง) กระเทียม พริกไทย กระชาย กระเพรา สะระแหน่ โหระพา (ใบ) สับปะรด มะละกอ (เมล็ด) ปูเล่ กะหล่ำดอก ผักกาดแดง (เมล็ด)  มะนาว และมะกรูด (เปลือก ผล) บัวบก ขมิ้น ถั่วต่างๆ และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้ น้ำนมถั่วเหลือง โกโก้ มะพร้าว(น้ำมะพร้าวอ่อน) อินทผลัม แครอท (หัว) น้ำมันจากเมล็ดทานตะวัน  ผลิตภัณฑ์จากองุ่นทั้งไวน์ขาว และไวน์แดง  พืชที่จัดว่ามีไฟโตรเอสโตรเจนในระดับสูง คือ กวาวเครือ(ราก)    ตังกุย(ราก)   Flaxseed หรือ Linseed(เมล็ดของต้น flax ซึ่งใช้ทำผ้าลินิน)   ถั่วต่างๆ (ถั่วเหลืองมีมากกว่าถั่วเขียว ถั่วลันเตา) น้ำมะพร้าวอ่อน 

Source: มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

Saturday, May 25, 2013

ไขมันอิ่มตัว vs.ไขมันไม่อิ่มตัว

ไขมัน ที่มีอยู่ในอาหารมีส่วนประกอบของกรดไขมัน (fatty acid) มีธาตุคาร์บอน ธาตุไฮโดรเจน และธาตุออกซิเจน เรียงจับกันในลักษณะต่างๆ สามารถแบ่งตามโครงสร้างทางเคมี ได้ดังนี้

1. ไขมันอิ่มตัว (Saturated fatty acid) คือไขมันที่มีโครงสร้างคาร์บอนเรียงจับกันครบ ไขมันชนิดนี้ร่างกายสามารถสร้างได้เอง 
ถ้ารับประทานมากเกินไป จะทำให้เกิดคลอเรสเตอรอลในเลือดสูง เกิดการอุดตันของเส้นเลือด เป็นต้นเหตุของโรคหัวใจขาดเลือด

2. ไขมันไม่อิ่มตัว (Unsatuarated fatty acid) คือไขมันที่ธาตุคาร์บอนยังมีเหลือสามารถจับกับธาตุไฮโดรเจนได้ แบ่งออกเป็น

ก. กรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว (Monounsaturated fatty acid) ได้แก่ กรดโอเลอิก (Oleic acid) เป็นกรดไขมันที่ร่างกายสามารถสร้างได้เอง แต่ถ้ารับประทานเข้าไปมาก ก็ไม่ทำให้เกิดโรคหัวใจ และมีแนวโน้มที่จะช่วยลดไขมันในเลือดด้วย

ข. กรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดหลายตำแหน่ง (Polyunsaturated fatty acid) เป็นกรดไขมันที่ร่างกายไม่สามารถสร้างได้เอง จำเป็นต้องรับจากอาหาร ไขมันที่สำคัญคือ Omega-3 (Alpha-linolenic acid) และ Omega-6 (linolenic acid)

ในหมู่ไขมันในอาหาร มีไขมันที่เป็นมิตรต่อสุขภาพ ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ จะเป็นไขมันที่อยู่ในกลุ่มไขมันไม่อิ่มตัว ไขมันเหล่านี้อยู่ในอาหารอะไรบ้าง เรามาดูกัน

น้ำมันมะกอก (Olive oil) เป็นน้ำมันที่มีส่วนผสมของกรดโอลิอิก (Oleic acid) ซึ่งจะไม่เพิ่มระดับคลอเรสเตอรอลในเลือด และเป็นแหล่งที่ดีของวิตามินอี ซึ่งเป็นสารต่อต้านอนุมูล (Antioxidants) ช่วยลดการเกิดมะเร็ง และช่วยลดการทำลายหลอดเลือด ช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตัน

น้ำมันจากเมล็ดพืช

น้ำมันเมล็ดแฟลกซ์หรือเมล็ดลินิน (Flaxseed oil/Linseed oil) เป็นเมล็ดพืชที่อุดมไปด้วยกรดไขมันชนิด โอเมก้า 3 หรือ กรดแอลฟาไลโนเลนิค  และโอเมก้า 6 ซึ่งเป็นไขมันชนิดไม่อิ่มตัวที่เป็นประโยชน์กับร่างกาย

น้ำมันคาโนลา (Canola oil) เป็นน้ำมันที่มีส่วนผสมของ กรดโอลิอิก (Oleic acid) ซึ่งช่วยลดไขมันในเลือดชนิด LDL ที่เป็นคลอเรสเตอรอลที่ไม่ดีให้ลดลง และมีส่วนประกอบของ โอเมก้า Omega-3 และ Omega-6 ซึ่ง Omega-3 มีส่วนช่วยลดไขมันไตรกรีเซอไรด์ และลดการเกาะตัวของเกร็ดเลือด ที่เป็นต้นเหตุให้เส้นเลือดหัวใจอุดตัน จึงมีส่วนสำคัญในการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ

แต่นับว่าเป็นข่าวร้ายที่นักวิจัยพบว่าน้ำมันพืชชนิดอื่นที่เราใช้อยู่ปัจจุบันคือ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันเมล็ดฝ้าย มีส่วนของ omega-6 มากกว่า omega-3

ซึ่ง omega-6 นี้แม้จะมีความจำเป็นต่อร่างกาย แต่ถ้าได้รับมากเกินไป ก็เป็นต้นเหตุให้ความดันเลือดสูง ทำให้เกิดการแข็งตัวของเลือดง่ายขึ้น ทำให้เกิดหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ง่าย และทำให้ร่างกายบวมน้ำ ดังนั้นถึงแม้เราจะใช้ไขมันเหล่านี้ปรุงอาหาร ก็ควรหลีกเลี่ยงอย่าใช้มากเกินจำเป็น และหลีกเลี่ยงอาหารที่ใช้น้ำมันมาก เช่น ของทอด หรือผัด ควรทานอาหารประเภทต้ม หรือนึ่งมากกว่า

น้ำมันปลา (Fish oil)น้ำมันปลา (อย่าสับสนกับน้ำมันตับปลา) ในปลาทะเลได้แก่แซลมอน ทูน่า ซาดีน เฮอร์ริ่ง เป็นปลาที่มีกรดไขมัน omega-3 จากการศึกษาพบว่าการทานปลาเหล่านี้ สองครั้งต่อสับดาห์ จะช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง ช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้นและอารมณ์ดีขึ้น

ถั่วนัท (nut)ได้แก่ ถั่วแอลมอนด์ วอลนัท พีนัท พีแคน จะมีไขมันไม่อิ่มตัวชนิด Monounsaturated fatty acid ช่วยลดปริมาณไขมัน LDL ได้ และในวอลนัท จะมีปริมาณ Omega-3 สูงด้วย แต่ในการทานถั่วนี้ ไม่ควรทานในรูปของ ถั่วคั่วใส่เกลือ เพราะมีพลังงานสูงและเกลือมากเกินไป

ถึงแม้ไขมันเหล่านี้ จะเป็นมิตรต่อสุขภาพ แต่ก็เป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง ดังนั้นการทานอาหารที่มีไขมันสูง ก็ต้องระวังเรื่องความอ้วนด้วย จึงไม่ควรทานมากเกินกว่าความต้องการของร่างกาย

Sources: Good Fats, Bad Fats, by Rosemary Stanton, PhD, Marlowe & Co. * The PDR Family Guide to Nutrition and Health, Medical Economics Co. 2003 WebMD Inc. All rights reserved.

โดย พญ.รุ่งทิพย์ วรรณวิมลสุข แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว

เมล็ดแฟลกซ์ (Flaxseed) - อาหารเพื่อสุขภาพ

เมล็ดแฟล็กซ์ (Flaxseed /Linseed)



 

เมล็ดแฟลกซ์หรือเมล็ดลินิน มีขนาดใหญ่กว่าเมล็ดงา เป็นเมล็ดพืชที่อุดมไปด้วยน้ำมันแฟลกซ์ ซึ่งมีกรดไขมันชนิดโอเมก้า 3 หรือ กรดแอลฟาไลโนเลนิค  และโอเมก้า 6 ซึ่งเป็นไขมันชนิดไม่อิ่มตัวที่เป็นประโยชน์กับร่างกาย กรดไขมันที่จำเป็นเหมือนน้ำมันปลา (fish oil)  มีผลในการลดระดับคอเลสเตอรอล (cholesterol) ช่วยป้องกันเลือดจับกันเป็นก้อน ช่วยควบคุมระดับความดันโลหิต

ในเมล็ดแฟล็กซ์มีไฟเบอร์ทั้ง 2 ชนิด คือ ที่ละลายน้ำได้ จะช่วยลดระดับโคเรสตอรอลและปรับระดับกลูโคสในร่างกาย ทำให้อยากทานประเภทคาร์โบรไฮเดรตน้อยลง ส่วนไฟเบอร์ที่ไม่ละลายน้ำจะช่วยทำความสะอาดลำไส้ ช่วยไม่ให้ของเสียสะสมอยู่ในร่างกายนาน เมล็ดแฟลกซ์มีผลเป็นยาระบายท้องผูก เพราะมีความเป็นเยื่อสูง ช่วยในระบบขับถ่ายให้เป็นไปตามธรรมชาติ ลดความเสี่ยงต่อการ เป็นมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร
แต่การบริโภคปริมาณมาก โดยไม่บริโภคน้ำเพียงพอ จะทำให้ไปอุดตันในลำไส้เล็กได้

เมล็ดแฟล็กซ์  (ไม่ใช่น้ำมันเมล็ดแฟล็กซ์)  มีสารชื่อ 'ลิกแนน (Lignans)' ซึ่ง คุณสมบัติของสารนี้มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน ฮอร์โมนเพศหญิง (phytoestrogen) ธรรมชาติ ฮอร์โมนที่สามารถไปช่วยหล่อเลี้ยงสมองและระบบประสาท ผิวหนัง ช่วยให้เนื้อเยื่อแข็งแรง และระบบสืบพันธุ์ ช่วยบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนได้ดี เช่น อาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออก ในเวลากลางคืน หลับไม่สนิท ผิวแห้ง ตาแห้ง ช่องคลอดแห้ง นอกจากนั้นลิกแนนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ในการต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ไวรัสและเชื้อรา เสริมสร้างกระดูก จึงไม่เป็นโรคกระดูกพรุน (osteoporosis)

เมล็ดแฟล็กซ์ยังอุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินบี และบี 2 วิตามินซี ดี และวิตามินอี รวมไปถึงแร่ธาตุต่างๆ แถมยังมีโปรตีนเกือบทุกชนิดที่ร่างกายต้องการ มีกรดอะมิโนที่ช่วยยับยั้งความหิว ช่วยให้เส้นผมและเล็บแข็งแรง ช่วยให้ผิวพรรณสุขภาพดี เปล่งปลั่ง

เมล็ดแฟลกซ์เป็นผลดีในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและมะเร็งต่อมลูกหมาก (Breast cancer, Prostate cancers) โดยผลวิจัยของมหาวิทยาลัย Duke แนะว่าเมล็ดแฟลกซ์น่าจะมีผลดีต่อการหยุดยั้งการเติบโตของมะเร็งต่อมลูกหมาก ลดความรุนแรงของเบาหวาน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดคงที่

ขนาดรับประทาน :

- เมล็ดแฟลกซ์ ก่อนนำมารับประทานต้องนำมาบดกับเครื่องบดก่อนร่างกายจึงจะสามารถย่อยและดูดซึมได้ดี
เมล็ดแฟลกซ์มีรสหอมมัน เมล็ดแฟลกซ์ไม่มีกลิ่นหรือรส อาจนำมาประกอบอาหาร เครื่องดื่มเพื่อเพิ่มรสชาติ
ใส่แฟลกซ์ป่นในอาหาร แกงหรือซุป ใส่ในสลัด ในกาแฟและเครื่องดื่มร้อน 

- หากเป็นน้ำมันเมล็ดแฟล็กซ์ รับประทาน 1 ช้อนชาถึง 1 ช้อนโต๊ะต่อวัน หรือในรูปของอาหารเสริมประมาณ 1,000-2,000 มิลลิกรัมต่อวัน รับประทานหลังอาหารเพื่อเพิ่มการดูดซึม (น้ำมันเมล็ดแฟล็กซ์ จะไม่มี สาร lignan phytoestrogen)

ข้อควรระวัง :

- เนื่องจากการลดการจับตัวของเกล็ดเลือด ดังนั้นจึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษสำหรับผู้ที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดเช่น warfarin ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
สำหรับผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัด หรือทำฟัน ควรหยุดรับประทานอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์

- น้ำมันเมล็ดแฟล็กซ์เสื่อมสภาพง่ายเมื่อถูกแสงและความร้อน ควรเก็บรักษาในที่เย็น ควรบดเท่าที่พอกิน ไม่เก็บแฟลกซ์ป่นไว้นานเกินไป เพราะน้ำมันแฟลกซ์เหม็นหืนได้

น้ำมันเมล็ดแฟล็กซ์เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่รับประทานน้ำมันปลาไม่ได้