Sunday, September 22, 2013

ข้อเข่าเสื่อม

ข้อเข่าเสื่อม ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด อาจเกิดจาก อายุที่มากขึ้น (มักพบในผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป) น้ำหนักตัวมาก พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า และ จากการใช้ข้อไม่เหมาะสม สาเหตุอื่น ๆ เช่น อุบัติเหตุ การติดเชื้อในข้อ เป็นต้น

เมื่อเกิดข้อเสื่อม จะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่าง ภายในข้อ เช่น กระดูกอ่อนผิวข้อบางลง และ ผิวไม่เรียบ มีกระดูกงอกบริเวณขอบ ๆ ข้อ และ เกิดการสูญเสียคุณสมบัติของน้ำไขข้อ ปริมาณมากขึ้น แต่ความยืดหยุ่นลดลง

อาการและอาการแสดงของโรคข้อเข่าเสื่อม อาจพบอาการเพียงอาการเดียว หรือ หลายอาการพร้อมกันก็ได้ ในระยะแรกมักจะเป็นไม่มาก และ เป็น ๆ หาย ๆ แต่เมื่อข้อเสื่อมมากขึ้น ก็จะมีอาการบ่อยมากขึ้น หรือ เป็นตลอดเวลา

• ปวดข้อเข่า รู้สึกเมื่อย ตึงที่ ต้นขา น่อง และ ข้อพับเข่า ผิวหนังบริเวณข้อ อุ่นหรือ ร้อนขึ้น

• ข้อขัด ข้อฝืด เหยียด-งอเข่าได้ไม่สุด มีเสียงดังในข้อเวลาขยับข้อเข่า จากการเสียดสีกันของผิวข้อที่ไม่เรียบ

• ข้อเข่าบวม เพราะน้ำไขข้อมากขึ้นจากการอักเสบ หรือ มีก้อนถุงน้ำในข้อพับเข่าจากเยื่อบุข้อเข่าโป่งออก

• เข่าคดเข้า เข่าโก่งออก หรือ มีกระดูกงอก ทำให้ข้อผิดรูปร่าง กล้ามเนื้อรอบข้อลีบเล็กลง


เอกซเรย์ อาจพบสิ่งผิดปกติ เช่น ช่องของข้อเข่าแคบลง กระดูกงอก (ในผู้สูงอายุปกติ ที่ไม่มีอาการก็พบได้ )

ความผิดปกติทางเอกซเรย์ ไม่สัมพันธ์กับอาการปวด บางคนเอกซเรย์พบว่าข้อเสื่อมมากแต่กลับไม่ค่อยปวด โดยทั่วไปแล้ว แพทย์สามารถวินิจฉัยว่าเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้โดยไม่จำเป็นต้องเอกซเรย์ ยกเว้นผู้ที่จะรักษาด้วยการผ่าตัด หรือ ผู้ที่รักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น


แนวทางรักษา มีอยู่หลายวิธี เช่น

• ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อหลีกเลี่ยงการงอเข่ามากเกินไป

• กายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อาจใช้ ผ้ารัดเข่า เฝือกอ่อนพยุงเข่า (แต่ถ้าใช้นาน ๆ จะทำให้กล้ามเนื้อลีบ)

• ยาบรรเทาอาการ เช่น ยาแก้ปวดลดการอักเสบที่มิใช่สเตียรอยด์ ยาคลายกล้ามเนื้อ แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานเพราะจะทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น แผลในกระเพาะอาหาร ไตวาย ความดันโลหิตสูง เป็นต้น

• ยากระตุ้นการสร้างกระดูกอ่อนผิวข้อ (ปกติ กระดูกอ่อนผิวข้อจะไม่สร้างขึ้นใหม่) หรือ ยาชะลอความเสื่อม

• ฉีดน้ำไขข้อเทียม ซึ่งจะช่วยให้อาการดีขึ้นเฉลี่ย 6 เดือน – 1 ปี แต่มีราคาค่อนข้างสูง (13,000-16,000 บาท)

• การผ่าตัด เช่น ผ่าตัดจัดแนวกระดูกใหม่เพื่อลดเข่าโก่ง ส่องกล้องเข้าไปในข้อ หรือ ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

วิธีผ่าตัดถือว่าเป็นทางเลือกสุดท้าย จะใช้ในผู้ที่มีอาการมาก และรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล เท่านั้น


การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อ หรือ เจาะข้อเพื่อดูดน้ำไขข้อออก จะทำให้อาการปวดดีขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อผ่านไป 1-2 เดือน ก็จะกลับมาเป็นอีก และมีผลข้างเคียง เช่น กระดูกอ่อนผิวข้อบางลง ทำให้ข้อเสื่อมเร็วขึ้น กระดูกพรุน กล้ามเนื้อลีบ หรือ ติดเชื้อในข้อ จึงถือว่าเป็นเพียงแค่บรรเทาอาการชั่วคราวเท่านั้น

ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ก็ไม่ควรฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อ หรือ เจาะดูดน้ำไขข้อออก แต่ถ้าจำเป็นต้องฉีดยาสเตียรอยด์ หรือ เจาะข้อ ก็ต้องป้องกันการติดเชื้อขณะฉีดอย่างดี (ต้องใช้ผ้าปลอดเชื้อคลุมบริเวณที่ฉีด) และ ไม่ควรฉีดมากกว่าปีละ 2-3 ครั้ง หลังจากฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อ ต้องลดการใช้งานข้อข้างที่ฉีด ประมาณ 1-2 อาทิตย์ และใช้ผ้าพันรัดเข่าไว้ด้วย



ข้อแนะนำในการดูแลรักษาด้วยตนเอง

1. ลดน้ำหนัก เพราะเมื่อเดินจะมีแรงกดลงที่เข่าประมาณ 5 เท่าของน้ำหนักตัว แต่ถ้า วิ่ง จะมีแรงกดลงที่เข่า เพิ่มขึ้นเป็น 7 – 10 เท่าของน้ำหนักตัว ( การถีบจักรยาน เข่าจะรับแรงกดเพียง 1.5 เท่าของน้ำหนักตัวเท่านั้น )

ดังนั้น ถ้าลดน้ำหนักตัวได้ เข่าก็จะรับแรงกดน้อยลง ทำให้เข่าเสื่อมช้าลงและอาการปวดก็จะลดลงด้วย

2. ท่านั่ง ควรนั่งบนเก้าอี้สูงระดับเข่า ซึ่งเมื่อนั่งห้อยขาแล้วฝ่าเท้าจะวางราบกับพื้นพอดี

ไม่ควร นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งคุกเข่า นั่งยอง ๆ หรือ นั่งราบบนพื้น เพราะจะทำให้ผิวข้อเข่าเสื่อมเร็วมากขึ้น

3. เวลาเข้าห้องน้ำ ควรนั่งถ่ายบนโถนั่งชักโครก หรือ นั่งบนเก้าอี้สามขาที่มี รู ตรงกลาง วางไว้เหนือคอห่าน

ควรทำที่จับยึดบริเวณด้านข้างโถนั่ง เพื่อใช้จับพยุงตัวเวลาจะลงนั่งหรือจะลุกขึ้นยืน

ไม่ควรนั่งยอง ๆ เพราะผิวข้อเข่าเสียดสีกันมาก และเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงขาถูกกดทับ ทำให้เลือดไปเลี้ยงขาได้ไม่ดี

4. นอนบนเตียง ซึ่งมีความสูงระดับเข่า เมื่อนั่งห้อยขาที่ขอบเตียงแล้วฝ่าเท้าจะแตะพื้นพอดี

ไม่ควรนอนราบบนพื้นเพราะต้องงอเข่าเวลาจะนอนหรือจะลุกขึ้น ทำให้ผิวข้อเสียดสีกันมากขึ้น ข้อก็จะเสื่อมเร็วขึ้น

5. หลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันได ขณะขึ้นลงบันได จะมีแรงกดที่เข่าประมาณ 3 เท่าของน้ำหนักตัว

6. หลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งในท่าเดียวนาน ๆ ถ้าจำเป็นก็ให้ขยับเปลี่ยนท่า หรือ เหยียด-งอข้อเข่า บ่อย ๆ

7. การยืน ควรยืนตรง ขากางออกเล็กน้อย ให้น้ำหนักตัวลงบนขาทั้งสองข้างเท่า ๆ กัน

ไม่ควร ยืนเอียงลงน้ำหนักตัวบนขาข้างใดข้างหนึ่ง เพราะจะทำให้เข่าที่รับน้ำหนักมากกว่าเกิดอาการปวดได้

8. การเดิน ควรเดินบนพื้นราบ ไม่ควร เดินบนพื้นที่ไม่เสมอกัน เช่น บันได ทางลาดเอียงที่ชันมาก หรือ ทางเดินที่ขรุขระ เพราะทำให้น้ำหนักตัวที่ลงไปที่เข่าเพิ่มมากขึ้น และ อาจจะเกิดอุบัติเหตุหกล้มได้ง่าย
ควรใส่รองเท้าแบบมีส้นเตี้ย (สูงไม่เกิน 1 นิ้ว) หรือ ไม่มีส้นรองเท้า พื้นรองเท้านุ่มพอสมควร และ มีขนาดกระชับพอดี

9. ใช้ไม้เท้า โดยเฉพาะ ผู้ที่ปวดมากหรือข้อเข่าโก่งผิดรูป เพื่อช่วยรับน้ำหนัก และ ช่วยพยุงตัวเมื่อจะล้ม

วิธีถือไม้เท้า ในผู้ที่ปวดเข่ามากข้างเดียว ให้ถือในด้านตรงข้ามกับเข่าที่ปวด แต่ถ้าปวดทั้งสองข้างให้ถือในข้างที่ถนัด

10. บริหารกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า ให้แข็งแรง ซึ่งจะช่วยลดอาการปวด ทำให้ข้อเคลื่อนไหวและการทรงตัวดีขึ้น

11. การออกกำลังกายวิธีอื่น

ควรออกกำลังกายที่ไม่ต้องลงน้ำหนักมากนัก เช่น ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เดินเร็ว ๆ วิ่งเหยาะ ๆ เป็นต้น

ไม่ควร ออกกำลังกายที่ต้องมีการลงน้ำหนักที่เข่าเพิ่มขึ้น เช่น วิ่งเร็ว ๆ เต้นแอโรบิก ฟุตบอล เทนนิส แบดมินตัน บาสเกตบอล เพราะอาจทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบข้อเข่าเกิดการฉีกขาดได้และมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุหกล้มได้

12. ถ้ามีอาการปวด ให้พักการใช้ข้อเข่า และ ประคบด้วยความเย็น/ความร้อน หรือ ใช้ยานวดร่วมด้วยก็ได้


ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมให้หายขาดได้

จุดมุ่งหมายในการรักษาทุกวิธีคือ เพื่อลดอาการปวด ทำให้ข้อเคลื่อนไหวดีขึ้น ป้องกันหรือแก้ไขข้อที่ผิดรูป เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามสมควร

จึงถือว่าแนวทางรักษาข้างต้นเป็นเพียงการรักษาปลายเหตุ เพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น และ ยังมีข้อจำกัดในการรักษาอีกด้วย เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะสามารถใช้งานได้ใกล้เคียงกับธรรมชาติ และ บรรเทาอาการปวดได้ดี แต่ก็มีอายุใช้งานได้นานแค่ 10 -15 ปี

Cr. หมอหมู